งานทาสีจิตกรรมฝาผนัง ด้วยศิลปะลายรดน้ำ

by admin, credit vdo by wichet taweewan

งานช่างลายรดน้ํา เป็นงานประณีตศิลป์ด้านตกแต่งอย่างหนึ่งซึ่งมีรูปแบบและการทํา สืบเนื่องกันมาแต่โบราณ จัดเป็นงานช่างศิลป์ประเภทหนึ่งเรียกว่า ช่างรัก อันเป็นหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจําราชสํานักซึ่งเรียกกันว่า “ช่างสิบหมู่”

ลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลายหรือรูปภาพให้ปรากฏเป็นลายทองด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด จัดเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความสำคัญมาก สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับของชาวบ้านธรรมดา เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนาตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยใช้ตกแต่งผนังห้องอาคารที่มีขนาดใหญ่ อันหมายถึงใช้ตกแต่งตั้งแต่เนื้อที่ไม่กี่ตารางนิ้วไปจนถึงเนื้อที่หลายร้อยตารางฟุต

การเขียนลวดลายหรือรูปภาพประเภทลายรดน้ำนี้คงจะมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ลายรดน้ำนี้คงแพร่หลายและเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาและต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ดังปรากฏศิลปะโบราณวัตถุที่ตกทอดมาได้แก่ ตู้พระธรรม หีบพระธรรม ไม้ประกับคัมภีร์ พานแว่นฟ้า ตะลุ่ม ฉากลับแล ฝาผนัง บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่างานช่างลายรดน้ำของไทยนั้นมีคุณค่าทางด้านศิลปะอันมีลักษณะโดยเฉพาะและเป็นแบบอย่างของศิลปะไทยมาแต่โบราณ เเม้ว่างานส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในด้านที่เกี่ยวกับศาสนาและพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่เกิดจากชาวบ้านธรรมดา เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน และเป็นที่เชิดหน้าชูตาแห่งตน

วัสดุอุปกรณ์

1. แผ่นพื้นผิวสีดำที่ต้องการทำลายรดน้ำ หรือถ้าทำลายรดน้ำบนพื้นผิวอื่นๆสามารถใช้สีเฟลกสีดำทาแทนได้ 2. ดินสอพอง 3. กระดาษลอกลาย 4. เข็ม 5. ลูกประคบ 6. สะพานรองมือ 7. ภู่กันหัวขนาดเล็ก 8. แผ่นทองคำเปลว 9. สีเฟลกสีเหลือง 10. สำลี

อุปกรณ์สำหรับการทำน้ำยาหรดาล

11. สีโปรเตอร์สีเหลืองเนื้อละเอียด 12. โกร่งบดยา 13. กาวกระถิ่น 14. น้ำฝักส้มป่อย 15. กาวกระถิน

วิธีการทำลายรดน้ำ

1. วาดลายที่ต้องการบนกระดาษลอกลาย จากนั้นนำเข็มปรุไปตามลายที่วาด

2. ทำความสะอาดพื้นผิววัสดุที่ต้องการจะทำลายรดน้ำด้วยดินสอพอง ผสมน้ำเล็กน้อย นำมาถูวนให้ทั่วพื้นที่เตรียมไว้ และใช้สำลีถูออกให้หมด (ในกรณีที่แผ่นวัสดุไม่ใช้แผ่นตามในคลิป อาจเป็นพื้นผิววัสดุอื่นๆ สามารถเตรียมพื้นผิวโดยการใช้สีโป๊วรถยนต์ทาให้ทั่วพื้นรอให้แห้งและขัดให้เรียบด้วยกระดาษทราย เมื่อขัดจนเรียบแล้วปัดฝุ่นให้สะอาด และพ่นสเปรย์เคลือบพื้นสีเทาให้ทั่ว และทิ้งให้แห้ง ลงพื้นด้วยสี GP Flex Finish สีดำทาบาง ๆ รอให้แห้ง ทำซ้ำ ๓ ครั้ง จนพื้นเรียบเป็นเงา และพักไว้จนแห้งสนิท)

3. วางกระดาษปรุลายบนพื้นวัสดุและนำลูกประคบดินสอพองตบให้ทั่ว เป็นการโรยแบบเพื่อเตรียมเขียน

4. เตรียมน้ำยาหรดาล โดยการใช้สีโปรเตอร์สีเหลืองเนื้อละเอียด ผสมกับน้ำส้มป่อยและกาวกระถินลงบนโกร่งบดยา คนให้เข้ากัน

5. ทดสอบคุณภาพของเนื้อน้ำยา

6. เขียนลวดลายด้วยน้ำยาหรดาล และถมพื้นส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดทองโดยขณะเขียนใช้สะพานรองมือเพื่อไม่ให้มือสัมผัสกับพื้นที่เขียน

7. เมื่อเขียนเสร็จใช้ลูกประคบดินสอพองลงบนงานเพื่อทำความสะอาดอีกครั้ง โดยต้องอยู่ในสถานที่ ๆ ไม่มีความชื้นโดยเด็ดขาด เพราะลายที่เขียนอาจหลุดออกได้

8. ใช้สี GP Flex สีเหลือง แทนยางรัก โดยนำลูกประคบเล็กๆ(ผ้าห่อด้วยสำลี)ชุบกับสีและนำมาเช็ดให้ทั่ว ให้สม่ำเสมอกัน เมื่อทั่วแล้วใช้สำลีเปล่าเช็ดซ้ำอีกเรียกว่าการถอน จนกว่าพื้นจะมีความแห้งที่เหมาะสมที่จะปิดทอง

9. ปิดแผ่นทองคำเปลวลงบนพื้นผิวให้ทั่ว ใช้นิ้วกวดทองเบา ๆให้ทั่วจนทองจมลงในงาน จากนั้น นำแผ่นกระดาษที่ห่อทองคำเปลวชุบน้ำแปะบนงานเพื่อให้ทองฟู

10. จากนั้นขั้นตอนการรดน้ำคือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดมาเช็ดให้ทั่วและรูดน้ำยาหรดาลออก ลวดลายที่เขียนไว้ก็จะปรากฏเป็นลวดลายทองที่งดงาม เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำลายรดน้ำ